ดนตรีพื้นบ้าน เป็นดนตรีประเภทหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมากจากรุ่นสู่รุ่น เป็นกิจกรรมทางดนตรีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน และสร้างความบันเทิงให้ทั้งกับคนเล่นและคนฟังได้ และสร้างความรักและสามัคคีให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นของไทยได้ และแต่ละภาคก็มีเอกลักษณ์ที่ต่างกันด้วย โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงดนตรีพื้นบ้านของแต่ละภาคกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

            ดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า โดยเครื่องดีดจะมี จะเข้ จ้องหน่อง เครื่องสีก็พวกซอด้วง ซออู้ เครื่องตีจะเป็นระนาด ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ส่วนเครื่องเป่าจะเป็นขลุ่ย ปี่ โดยจุดเด่นของวงดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง คือ  วงปี่พาทย์จะผสมผสานกับวงดนตรีหลวง ในตอนแรกใช้ปี่และกลองเป็นหลัก ต่อมาจึงเพิ่มระนาด ฆ้องวงเข้าไป ทำให้วงดนตรีขนาดใหญ่และยังมีการขับร้องที่คล้ายคลึงกับปี่พาทย์ของหลวง เพราะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมมานั่นเอง

            ดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ ในตอนแรกนะเน้นเครื่องดนตรีประเภทตีก่อน เพราะจะใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเน้นไปที่กลองเป็นหลัก เช่น ถ้าเป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ด้านเดียวจะมี กลองยาว กลองแอว และกลองรำมะนา ส่วนกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์สองหน้า จะมี กลองมองเซิง กลองสองหน้า และตะโพนมอญ และยังมีเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ  เครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น ขลุ่ย ปี่ไฉน  เครื่องสีประเภทสะล้อ รวมถึง พิณและซีง ลักษณะเด่นของดนตรีนี้ คือ ท่วงทำนองและสำเนียงที่พลิ้วไหวตามธรรมชาติ ได้รับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมในราชสำนัก ทั้งการบรรเลงดนตรีและท่วงทำนอง ถือเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ

            ดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แรกเริ่มมีการใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำเลียนเสียงธรรมชาติ จะเป็นเสียงสั้นไม่ก้อง และยังมีการนำวัสดุจากธรรมชาติมาเป่าให้เกิดเสียงด้วย เช่น ใบไม้ ปล้องไม้ไผ่ เป็นต้น และระยะสุดท้าย ได้นำหนังสัตว์และและเครื่องหนังมาสร้างเครื่องดนตรี โดยการละเล่นดนตรีพื้นบ้านของอีสานจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ อีสานเหนือและกลาง จะเน้นหมอลำที่มีการใช้แคนและพิณในการบรรเลงและขับร้อง ส่วนอีสานใต้จะนิยมแนวกันตรึม

            ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ เป็นการทำเครื่องดนตรีจากวัสดุใกล้ตัว โดยในระยะแรกมาจากพวกซาไกที่ใช้ไม้ไผ่ลำต่างๆ มาตัดเป็นท่อนๆสั้นบ้างยาวบ้างและนำปากกระบอกไม้ไผ่ที่มีการตัดตรงหรือเฉียงมาใช้ตีประกอบจังหวะ และต่อมามีการพัฒนาเป็นแตร กรับ กลอง และยังมีเครื่องเป่าอีก เช่น พวกปี่นอก รวมทั้งเครื่องสีด้วย โดยมีการรับวัฒนธรรมมาจากหลายที่ ทำให้เกิดการผสมผสานเกิดเป็นดนตรีพื้นบ้านและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ เช่น รองเง็ง มโนราห์ ลิเกฮูลู เป็นต้น

            ทั้งหมดนี้คือ ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านในแต่ละภาคของไทยที่คุณสามารถสัมผัสได้ง่ายๆ จากการเดินทางท่องเที่ยวหรือการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ นั่นเอง